สงครามจีน - สหรัฐ จากแนวรบทางการค้า เทคโนโลยี ถึงกีฬาโอลิมปิก

13 สิงหาคม 2567
สงครามจีน - สหรัฐ จากแนวรบทางการค้า เทคโนโลยี ถึงกีฬาโอลิมปิก
  • การเติบโตอย่างน่ากลัวของจีนในทุกด้านทำให้สหรัฐอเมริกาเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยต่อสถานภา พของตนเองอย่างรุนแรง โดยไม่เพียงแค่เรื่องของการขาดดุลการค้าอย่างรุนแรงเท่านั้น แต่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) เข้ามาประกอบด้วย
  • แนวรบใหม่อยู่ที่เรื่องของเทคโนโลยี ซึ่งทางสหรัฐประเมินว่าความก้าวหน้าของจีนที่รวดเร็วเกินไปอาจส่งผลต่อความมั่นคงของชาติได้ จึงมีความพยายามที่จะสกัดเตะตัดขาทุกทางเพื่อไม่ให้จีนก้าวหน้าไปเร็วกว่านี้ในทางเทคโนโลยีชั้นสูง อันเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเทคโนโลยี (Tech War) ในปี 2022
  • นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีชาติที่คว้าเหรียญทองได้เท่ากันนับตั้งแต่เริ่มต้นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ (Modern Olympics) ในปี 1896 หรือ 128 ปีที่แล้วเลยทีเดียว เพียงแต่สุดท้ายสหรัฐ คว้าตำแหน่งเจ้าเหรียญทองได้สำเร็จเพราะมีจำนวนเหรียญมากกว่า (44 เงิน 42 ทองแดง รวม 126 เหรียญ)

เริ่มต้นจาก Trade War 

 เมื่อมังกรขยับโลกก็สั่นไหว การเติบโตอย่างน่ากลัวของจีนในทุกด้านทำให้สหรัฐอเมริกาเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยต่อสถานภาพของตนเองอย่างรุนแรง โดยไม่เพียง แค่เรื่องของการขาดดุลการค้าอย่างรุนแรงเท่านั้น แต่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) เข้ามาประกอบด้วย

 นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของ สงครามการค้า (Trade war) ในปี 2018 ที่กระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองชาติอย่างรุนแรง

 สหรัฐจุดชนวนด้วยการประกาศเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก และอะลูมิเนียมจากจีน ทำให้โดนโต้ตอบด้วยการที่จีนเองสั่งเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐ มูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.05 แสนล้านบาท) ก่อนที่ฟากวอชิงตันจะประกาศเก็บภาษีสินค้าจีน 800 รายการ มูลค่ากว่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.195 ล้านล้านบาท)

 ในปี 2019 สหรัฐ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนอีกถึง 2 ระลอกด้วยกัน โดยระลอกแรก 2 แสนล้านดอลลาร์ (7.03 ล้านล้านบาท) หรือเพิ่มจากเดิม 10 เป็น 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจีนโต้ตอบเช่นกันด้วยการเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐ 7.5 หมื่นล้านสหรัฐ (2.36 ล้านบาท) ก่อนที่สหรัฐ จะลุยต่อด้วยการเพิ่มภาษีสินค้าจีนอีกรอบ 1.56 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.48 ล้านล้านบาท) 

เรียกได้ว่าเป็นการตอบโต้กันแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน กลิ่นดินปืน และควันไฟของสงครามการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้นจนโลกทั้งใบต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

เพียงแต่ในระหว่างนั้นหลังฉากทั้งสองฝ่ายมีการเจรจาทางการค้าอยู่เรื่อยๆ แต่กว่าที่จะบรรลุข้อตกลงจนเกิดการลงนามตกลงการค้าระยะที่ 1 นั้นต้องใช้เวลาในการเจรจาร่วม 2 ปีด้วยกัน

 สหรัฐ ยอมถอยด้วยการลดภาษีนำเข้าบางรายการของจีน เช่นกันจีนก็ตกลงเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตร และบริการจากชาติมหาอำนาจคู่ปรับ โลกทำท่าเหมือนจะกลับมาสงบสุขอีกครั้ง

สู่ Tech War ที่ร้อนแรง

 แต่ความสงบก็อยู่โลกได้ไม่นานนัก แรงปะทะกันระหว่างสองชาติมหาอำนาจตะวันตก และตะวันออกยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยคราวนี้ไม่ได้จำกัดวงอยู่แค่เพียงเรื่องของการค้าแล้ว

 แนวรบใหม่อยู่ที่เรื่องของเทคโนโลยี ซึ่งทางสหรัฐประเมินว่าความก้าวหน้าของจีนที่รวดเร็วเกินไปอาจส่งผลต่อความมั่นคงของชาติได้ จึงมีความพยายามที่จะสกัดเตะตัดขาทุกทางเพื่อไม่ให้จีนก้าวหน้าไปเร็วกว่านี้ในทางเทคโนโลยีชั้นสูง อันเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเทคโนโลยี (Tech War) ในปี 2022

ที่ต้องสู้กันแบบนี้เพราะเรื่องเทคโนโลยีคือ เครื่องมือทางการเมืองสำคัญสำหรับจีน ที่นอกจากจะช่วงชิงตลาดการค้าจากต่างประเทศแล้วยังสามารถนำมาใช้พัฒนาแสนยานุภาพทางด้านอาวุธ และกองทัพ สำหรับสหรัฐแล้ว นี่คือ ภัยคุกคามด้านความมั่นคงอย่างร้ายแรง

 หัวใจสำคัญของเรื่องคือ เซมิคอนดักเตอร์หรือชิปประมวลผลที่เป็นมันสมองของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสหรัฐ เริ่มต้นมาตรการในการจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีผลิตชิปของจีน ด้วยการสกัดการส่งออกชิปด้าน AI

 เรื่องนี้กระทบต่อผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลกอย่าง Nvidia ที่ไม่สามารถส่งออกชิปสเปกที่ดีที่สุดให้กับจีนได้จนต้องมีการแก้เกมด้วยการเปิดตัวชิปที่มีการจำกัดประสิทธิภาพ และคุณสมบัติบางอย่างเพื่อให้ผ่านเกณฑ์

เท่านั้นไม่พอในปีที่ผ่านมาสหรัฐ รุกหนักขึ้นด้วยการออกกฎหมายใหม่ที่ยิ่งเข้มงวดมากขึ้นกับการส่งออกชิปประมวลผลให้กับจีน ทำให้กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติอย่างรุนแรง โดยที่จีนเองก็มีการออกกฎระเบียบใหม่ควบคุมการส่งออกเทคโนโลยี และวัสดุบางประเภทด้วย

 

ฝ่ามือมังกรปะทะดัชนีอินทรี

 ล่าสุดในปีนี้ซึ่งเป็นปีที่สินค้าจากจีนไหลทะลักถล่มโลกทั้งใบ รวมถึงในประเทศไทยที่โดนรุกหนักจนแทบโงหัวไม่ขึ้นกับ Teemu แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซใหม่ สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในชาติที่เปิดฉากโต้ตอบด้วยกำแพงภาษีที่รุนแรงเพื่อสกัดสินค้าราคาถูกจากจีนถึงที่ถูกจับตามองมากเป็นพิเศษคือ รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จากจีนที่ถูกขึ้นภาษีนำเข้าจากเดิม 27.5 เปอร์เซ็นต์เป็น 102.5 เปอร์เซ็นต์ เพื่อสกัดไม่ให้รถอีวีจากจีนซึ่งมีราคาต่ำกว่ารถยนต์ที่ผลิตในประเทศที่ไม่สามารถต่อสู้ด้านราคาได้เข้ามาถล่มตลาด

 นอกจากนี้ยังมีการขึ้นภาษีสินค้าหลายรายการที่น่าสนใจ เช่น แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (EV) จาก 7.5 เปอร์เซ็นต์ เป็น 25 เปอร์เซ็นต์, แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (non-EV) ก็ขึ้นจาก 7.5 เปอร์เซ็นต์เป็น 25 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน (เริ่มปี 2026) ขณะที่เซมิคอนดักเตอร์ ขึ้นเป็น 50 เปอร์เซ็นต์จากเดิม 25 เปอร์เซ็นต์ (เริ่มปี 2025) 

 อุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างกระบอกฉีดยา และเข็มฉีดยาก็เพิ่มภาษีเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ จนถึงถุงมือยางที่ขึ้นจาก 7.5 เปอร์เซ็นต์เป็น 25เปอร์เซ็นต์ รวมทุกรายการในบัญชีแล้วอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (6.64 แสนล้านบาท)

 เรียกว่าเป็นการรวมลมปราณของฝ่ายสหรัฐก่อนปล่อยพลังหมัดต้านทานฝ่ามือมังกรที่ก็กำลังเจ็บหนักไม่แพ้กันกับปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ

สงครามชิงเจ้าเหรียญทองโอลิมปิก

 แต่การปะทะกันระหว่างสหรัฐ กับจีนไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องการค้าหรือเทคโนโลยีเท่านั้น

 ในสนามกีฬาพวกเขาเองก็ไม่มีใครยอมใครเหมือนกัน

 การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2024 ที่กรุงปารีส ที่เพิ่งจบลงไปนั้น ท่ามกลางเรื่องราวการแข่งขันที่น่าติดตามมากมายที่แฟนกีฬาทั่วโลกได้อิ่มเอม และประทับใจกับเหล่ายอดมนุษย์นักกีฬา หนึ่งในเรื่องที่มีการจับตามองคือ การช่วงชิงตำแหน่งเจ้าเหรียญทอง

 โดยใน “ปารีส 2024” กว่าจะรู้เจ้าเหรียญทองนั้นต้องลุ้นกันจนถึงวันสุดท้ายของการแข่งขันเลยทีเดียว ในการแข่งขันกีฬาบาสเกตบอลหญิงนัดชิงชนะเลิศระหว่างทีมฝรั่งเศสเจ้าภาพที่ต้องเจอกับสหรัฐ 

 ผลปรากฏว่าหลังการต่อสู้อย่างหนักทีมหญิงสหรัฐ เฉือนเอาชนะเจ้าภาพได้อย่างหวุดหวิดสุดๆ 67-66 คว้าเหรียญทองไปครอง และกลายเป็นเหรียญทองที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะทำให้สหรัฐ มีจำนวนเหรียญทองเท่ากับจีนที่ 40 เหรียญ

 นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีชาติที่คว้าเหรียญทองได้เท่ากันนับตั้งแต่เริ่มต้นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ (Modern Olympics) ในปี 1896 หรือ 128 ปีที่แล้วเลยทีเดียว

 เพียงแต่สุดท้ายสหรัฐ คว้าตำแหน่งเจ้าเหรียญทองได้สำเร็จเพราะมีจำนวนเหรียญมากกว่า (44 เงิน 42 ทองแดง รวม 126 เหรียญ) ขณะที่จีนมีเหรียญรวมแค่ 91 เหรียญ (27 เงิน 24 ทองแดง) และเป็นการครองเจ้าเหรียญทองติดต่อกัน 4 สมัย (2012, 2016, 2020, 2024)

 มีเพียงโอลิมปิก 2008 ที่กรุงปักกิ่งที่จีนครองเจ้าเหรียญทองได้

ยอมใครยอมได้ ยอมกันไม่ได้

 ในภาพรวมแล้วการแข่งขันกันระหว่างสหรัฐกับจีน ที่ไม่มีการยอมกันแม้กระทั่งในเรื่องของกีฬานั้นเป็นภาพสะท้อนในความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติยอมใครยอมได้ ให้ยอมกันยอมไม่ได้เด็ดขาด 

ตลอดศตวรรษที่ผ่านมาสหรัฐ เป็นหนึ่งมาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นการค้า เทคโนโลยี หรือแม้แต่กีฬา การที่จีนก้าวขึ้นมาท้าชิงกับตำแหน่ง “ผู้นำ” ที่อาจจะลามไปถึงการเป็น “ผู้ปกครอง” คือสิ่งที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถจะยอมรับได้แม้กระทั่งในความคิด

 ขณะที่จีนเองหลังมีการเปลี่ยนแปลงมากมายภายในประเทศจนเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็วทุกด้าน เติบโตอย่างน่าเกรงขาม พวกเขาคิดถึงการที่จะสามารถเป็นมหาอำนาจที่โลกต้องครั่นคร้าม ซึ่งรวมถึงในด้านเทคโนโลยีและกีฬา

 โดยในเกมกีฬา จีนใช้เวลามากถึง 4 ทศวรรษในการเริ่มต้นโปรเจกต์สู่การเป็นเจ้าโอลิมปิกด้วยการสืบหากีฬาที่สามารถมีลุ้นเหรียญทอง และทุ่มสรรพกำลังให้กับกีฬานั้นๆ มีการสร้างโรงเรียนกีฬาทั่วประเทศ และรับนักเรียนกีฬาหลายแสนคนเพื่อคัดนักกีฬาที่เป็นเลิศที่จะมาเป็นตัวแทนของประเทศ

 เหมือนเฉวียนหงฉาน นักกระโดดน้ำสาวน้อยมหัศจรรย์วัย 17 ปี ที่คว้า 3 เหรียญทองจากโอลิมปิก 2 ครั้งหลังสุด

 วันนี้สหรัฐ อาจจะสกัดกั้นทางการค้า และเทคโนโลยีของจีน รวมถึงคว้าเจ้าเหรียญทองในโอลิมปิกได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะจบลงมันเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น


แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.